ค้นหาสมุนไพร  
     
   
   
   
     
 
   
eherb ข่าวประชาสัมพันธ์ “เชื้ออีโคไล” สองด้านที่แตกต่าง ประโยชน์และโทษต่อสุขภาพ
“เชื้ออีโคไล” สองด้านที่แตกต่าง ประโยชน์และโทษต่อสุขภาพ
Create Date : 2011-07-14
“เชื้ออีโคไล” สองด้านที่แตกต่าง ประโยชน์และโทษต่อสุขภาพ จากเหตุการณ์การแพร่ระบาดและรายงานการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียจากการติดเชื้ออีโคไลสายพันธุ์รุนแรงที่เยอรมัน ได้สร้างกระแสความตื่นตัวเรื่องสุขอนามัยและการเฝ้าระวังการแพร่เชื้อในประเทศแถบยุโรป สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมการรับมือโดยให้ความรู้แก่ประชาชน เฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่นำเข้าจากประเทศแถบยุโรป รวมถึงติดตามความคืบหน้าของการแพร่ระบาดของเชื้ออันตรายนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ภญ.สุธินี แต้โสตถิกุล ศูนย์เภสัชสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเชื้ออีโคไลและวิธีการป้องกัน การติดเชื้อในท้องถิ่นเรา ในประเด็นต่างๆ ไว้อย่างน่าสนใจ ทำความรู้จักกับเชื้ออีโคไล แท้จริงแล้ว เชื้ออีโคไล (E. coli) เป็นหนึ่งในแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของคนเรา โดยปกติจะไม่ทำอันตรายหรือก่อโรคร้ายแรง เมื่ออยู่ในลำไส้ จะย่อยอาหารส่วนหนึ่งที่คนเรารับประทานเข้าไป ให้กลายเป็นวิตามินบางชนิดแก่ร่างกาย เช่น วิตามินเค วิตามินบีบางชนิด ซึ่งพบในอาหารทั่วไปเช่น ผักใบเขียว ถั่ว ข้าวกล้อง แบคทีเรียในลำไส้ยังช่วยส่งเสริมการทำงานและการเคลื่อนไหวของลำไส้ แต่ในทางกลับกัน หากเชื้ออีโคไลไม่อยู่ในที่ที่มันควรจะอยู่ แทนที่จะอยู่ในลำไส้ กลับแฝงตัวลุกล้ำเข้าไปในกระแสเลือดของร่างกาย ก็จะทำให้เกิดโรคติดเชื้อรุนแรง หรือการมีจำนวนเชื้ออีโคไลในลำไส้มากเกินไป หรือได้รับเชื้ออีโคไลสายพันธุ์ที่สร้างสารพิษก่อโรค เช่น เชื้ออีโคไลสายพันธุ์อีเท็ก (ETEC) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ผลิตสารพิษก่อให้ท้องร่วง หรือเชื้ออีโคไลสายพันธุ์อีเห็ก (EHEC) ที่กำลังระบาดในเยอรมัน ก็เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ผลิตสารพิษชิก้า (Shiga-like toxin) ซึ่งทำให้เกิดอาการท้องเสียรุนแรง ถ่ายเป็นมูกเลือด และก่อให้เกิดกลุ่มอาการเม็ดเลือดแดงแตก และไตวายเฉียบพลัน เราจะได้รับเชื้ออีโคไลผ่านทางไหนได้บ้าง นอกจากเชื้ออีโคไลจะอยู่ในลำไส้ของคนแล้ว ยังอาศัยอยู่ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข สุกร โค กระบือ เชื้ออีโคไลที่อยู่ในลำไส้จะถูกขับผ่านออกมาจากอุจจาระสัตว์ หากสัตว์ถ่ายอุจจาระลงดิน หรือลำน้ำ ซึ่งใช้เป็นแหล่งเพาะปลูกพืชพันธุ์ หรือแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค เชื้ออีโคไลเองก็สามารถปนเปื้อนไปกับผลิตผลทางการเกษตร และน้ำดื่มเข้าสู่ร่างกายคนเราได้ นอกจากนี้ยังสามารถพบเชื้ออีโคไลหรือสารพิษจากเชื้ออีโคไลในอาหารค้างคืน อาหารที่บูดเสีย หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม สำหรับคนที่มีเชื้ออีโคไล ไม่ว่าจะสายพันธุ์ก่อโรคหรือไม่ก่อโรค หากคนเหล่านั้นไม่รักษาสุขอนามัยให้ดี ไม่ล้างมือให้สะอาดหลังทำธุระส่วนตัว หรือไม่ล้างมือก่อนประกอบอาหาร เชื้ออีโคไลที่ปนเปื้อนมากับอุจจาระก็สามารถติดต่อเข้าสู่ผู้อื่นผ่านทางการสัมผัสและการรับประทานอาหารได้ ดังนั้น การระบาดของอาการท้องเสียจากการติดเชื้ออีโคไลก็สามารถสะท้อนให้เห็นถึงระบบสุขอนามัยในท้องถิ่นนั้นๆได้ แต่สำหรับอีโคไลสายพันธุ์อีเห็กชนิดผลิตสารพิษชิก้า ที่ระบาดในเยอรมัน เรายังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของแหล่งที่มาของเชื้อว่ามาจากพืชผักชนิดใด มาจากท้องถิ่นไหน ซึ่งต้องมีการติดตามข่าวสารกันต่อไป อันตรายต่อชีวิตเมื่อติดเชื้ออีโคไล สายพันธุ์อีเห็ก ชนิดผลิตสารพิษชิก้า เชื้ออีโคไลที่ผลิตสารพิษทั่วไป สามารถก่อให้เกิดอาการท้องเสีย โดยจะเริ่มมีอาการหลังจากรับประทานที่ปนเปื้อนเชื้อหรือสารพิษของเชื้อได้ ประมาณ 8 ชั่วโมง ถึง 5 วัน โดยทั่วไปจะมีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำในช่วงแรก แต่ไม่มีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีไข้ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ไม่อยากอาหาร ปวดบิดในท้องเป็นพักๆ ซึ่งสามารถหายได้เองใน 1-2 วัน แต่หากอาการไม่ทุเลา ก็จะเริ่มมีอาการถ่ายเป็นมูกเลือด มีไข้ แต่ก็จะสามารถหายได้เองใน 5 วันเช่นกัน แต่สำหรับอีโคไลสายพันธุ์อีเห็ก ชนิดผลิตสารพิษชิก้า ซึ่งเป็นสารพิษชนิดพิเศษที่สามารถทำลายเม็ดเลือดแดงได้ ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้ออีโคไลชนิดนี้จะมีอาการท้องเสียแบบถ่ายเป็นมูกเลือด ปวดบิดท้องรุนแรง อาเจียน และมีไข้ต่ำๆ แม้ว่าจะมีผู้ที่ติดเชื้ออีโคไลสายพันธุ์อีเห็ก ชนิดผลิตสารพิษชิก้า สามารถหายได้เองใน 5-7 วัน แต่ก็มีผู้ป่วยบางกลุ่มที่จะมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเม็ดเลือดแดงแตก และไตวายเฉียบพลันตามมาหลังจากเริ่มท้องเสีย 1 สัปดาห์ซึ่งมักเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต อาการแสดงของกลุ่มอาการดังกล่าวคือ ปัสสาวะน้อยลง กระหายน้ำมาก สีผิวเริ่มซีดเนื่องจากภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก จากการติดตามข้อมูลการระบาดของอีโคไลสายพันธุ์อีเห็ก ชนิดผลิตสารพิษชิก้าในประเทศเยอรมัน โดยองค์การอนามัยโลก ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2554 พบผู้ติดเชื้อแล้วทั้งสิ้น 2374 ราย (เสียชีวิต 12 ราย) และมีผู้ติดเชื้อที่มีอาการเม็ดเลือดแดงแตก และไตวายเฉียบพลันทั้งสิ้น 773 ราย (เสียชีวิต 22 ราย) โดยจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่ติดเชื้ออีโคไลสายพันธุ์รุนแรงนี้เริ่มมีจำนวนลดลง รักษาอาการท้องเสียจากเชื้ออีโคไลได้อย่างไร เนื่องจากอาการท้องเสียจากเชื้ออีโคไล เกิดจากสารพิษที่สร้างออกมาจากตัวเชื้อ การรักษาอาการท้องเสียโดยทั่วไปจึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะยาปฏิชีวนะไม่มีฤทธิ์กำจัดสารพิษจากเชื้อ และมีเพียงอาการท้องเสียบางกรณีเท่านั้นที่ต้องรับประทานยาปฏิชีวนะคือ ผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสีย ร่วมกับมีไข้สูง ถ่ายมีเลือดปนมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หรือเป็นผู้ป่วยเบาหวานที่คุมระดับน้ำตาลไม่ได้ หรือผู้ที่มีอาการท้องเสียรุนแรง แต่อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจใช้ยาปฏิชีวนะควรจะอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา หลักการสำคัญในการรักษาอาการท้องเสียไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้ออีโคไลหรือเชื้อใดๆก็ตาม คือ การทดแทนน้ำที่เสียไประหว่างที่มีอาการท้องเสียโดยจิบน้ำตาลเกลือแร่ หรือโออาร์เอส โดยสามารถหาซื้อได้จากร้านยาทั่วไป หรือสามารถทำได้เองในครัวเรือน โดยเตรียมน้ำต้มสุกสะอาดที่เย็นแล้วปริมาณ 1 ลิตร หรือ 5 แก้ว (แก้วละประมาณ 200 ซีซี) ผสมกับเกลือ 1 ช้อนชาและน้ำตาลอีก 8 ช้อนชา คนผสมให้น้ำตาลและเกลือละลายอย่างทั่วถึง แล้วค่อยๆจิบจนกว่าจะหยุดท้องเสีย ไม่ควรดื่มน้ำตาลเกลือแร่ทีละมากๆ เพราะจะกลายเป็นการกระตุ้นการถ่ายมากขึ้น และไม่ควรดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อมาก (เครื่องดื่มชูกำลัง) เพราะไม่สามารถทดแทนเกลือแร่ที่สูญเสียได้เพียงพอ อีกทั้งยังมีน้ำตาลสูงเกินไป ทำให้ท้องเสียมากขึ้น และไม่ควรดื่มน้ำหวาน หรือน้ำผลไม้ เพราะน้ำตาลในเครื่องดื่มก็กระตุ้นให้ถ่ายมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ผงน้ำตาลเกลือแร่ที่ละลายน้ำหรือเตรียมเองเสร็จแล้ว ควรใช้ให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง หากมีเหลืออยู่ ให้เทน้ำตาลเกลือแร่ทิ้ง เพราะอาจจะไม่สะอาดเพียงพอหรือบูดเสียได้ ยาหยุดถ่าย หรือยาอิโมเดียม เป็นยาที่ห้ามใช้ในการบรรเทาอาการท้องเสียเฉียบพลัน เพราะการหยุดถ่ายก็เท่ากับเป็นการยับยั้งการขับสารพิษและเชื้อก่อโรคออกจากร่างกาย กลายเป็นการกักเก็บสารพิษและเชื้อก่อโรคในร่างกายนานขึ้นจนทำให้มีอาการท้องเสียรุนแรงมากขึ้น สำหรับยาดูดซับสารพิษเช่น ผงถ่านอัดเม็ด สามารถรับประทานได้ในกรณีท้องเสียแบบถ่ายเหลวเป็นน้ำ ไม่มีไข้ ถ่ายไม่มีมูกเลือดปน โดยยาจะไปดักจับสารพิษจากเชื้ออีโคไลหรือสารพิษจากเชื้ออื่น แต่ต้องรีบรับประทานก่อนที่สารพิษจะไปเกาะกับลำไส้ การรับประทานผงถ่านอัดเม็ดจะทำให้อุจจาระเป็นสีดำ และเป็นก้อนมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่ายาจะช่วยลดจำนวนครั้งการถ่าย ในผู้ป่วยบางรายที่รับประทานผงถ่านอัดเม็ด อาจจะมีอาการท้องผูกตามมาด้วย อาการร่วมอื่นๆ เช่น ไข้ ปวดท้อง อาเจียนเยอะ ก็สามารถรับประทานยาเพื่อรักษาตามอาการได้ เช่น สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ รับประทานยาเม็ดไฮออสซิน (หรือชื่อการค้าบัสโคแพน)เพื่อบรรเทาอาการปวดท้อง หรือรับประทานยาดอมเพอริโดน (หรือชื่อการค้าว่าโมทิเรียม) เพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ สำหรับการรักษาการติดเชื้ออีโคไลสายพันธุ์อีเห็ก ชนิดผลิตสารพิษชิก้า ณ ประเทศเยอรมันในตอนนี้ ยังไม่มีแนวทางการรักษาที่จำเพาะเจาะจง แต่เป็นการรักษาแบบประคับประคองโดยเน้นการทดแทนน้ำให้เพียงพอเป็นหลัก และไม่แนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะเพราะอาจทำให้เชื้ออีโคไลสายพันธุ์นี้ปล่อยสารพิษชิก้ามากขึ้นและทำให้อาการแย่ลงเร็วขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่เกิดกลุ่มอาการเม็ดเลือดแดงแตก และไตวายเฉียบพลัน จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยเวชบำบัดวิกฤต และมักต้องรักษาโดยการล้างไตและถ่ายเลือด ควรงดอาหารระหว่างท้องเสียหรือไม่ ในระหว่างที่มีอาการท้องเสีย ไม่ควรงดรับประทานอาหาร เพราะจะยิ่งทำให้อ่อนแรงมากขึ้น ควรรับประทานอาหารอ่อนที่ปรุงสุก สะอาด และย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม เนื้อปลาสุก กล้วย ธัญพืชหรือถั่วต้มสุก โดยรับประทานทีละน้อย แต่บ่อยครั้งแทนการรับประทานเป็นมื้อใหญ่ และให้หลีกเลี่ยงอาหารแสลงท้อง เช่น อาหารทอด อาหารมัน อาหารรสเผ็ด รวมถึงอาหารที่มีเส้นใยอาหารเยอะ เช่น ผักสด เมื่อไหร่ควรจะรีบไปหาหมอที่โรงพยาบาล ควรรีบไปพบแพทย์หากอาการท้องเสียไม่ดีขึ้นใน 2 วัน หรือมีอาการขาดน้ำรุนแรง (ปากแห้ง กระหายน้ำมาก ปัสสาวะออกน้อย หนังเหี่ยว ตาลึกโบ๋) มีไข้เกิน 7 วัน กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือปวดกล้ามเนื้อมาก น้ำหนักลดฮวบฮาบ หรือสงสัยว่าท้องเสียจากเชื้ออหิวาห์ ซึ่งจะมีอาการถ่ายเป็นน้ำเหมือนน้ำซาวข้าวรุนแรงวันละหลายสิบครั้ง ถ่ายอุจจาระพุ่งแต่ไม่มีกลิ่น อาเจียนแต่ไม่มีอาการคลื่นไส้ ไม่มีอาการปวดท้อง และในระหว่างที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุของอาการท้องเสีย โดยเก็บตัวอย่างอุจจาระเพื่อวิเคราะห์หาเชื้อสาเหตุและสารพิษ หากสงสัยว่าจะเกิดอาการกลุ่มเม็ดเลือดแดงแตก และไตวายเฉียบพลัน แพทย์จะทำการเจาะตัวอย่างเลือดเพื่อทำการวินิจฉัยต่อไป จะป้องกันการติดเชื้ออีโคไลได้อย่างไร เชื้ออีโคไลติดต่อผ่านทางอุจจาระและการรับประทาน การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การรักษาสุขอนามัยของตนเอง โดยล้างมือด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 10 วินาทีก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังจากสัมผัสสัตว์เลี้ยง-ปศุสัตว์ และหลังจากเข้าห้องน้ำ วิธีการป้องกันอาหารปนเปื้อนเชื้ออีโคไลในเบื้องต้นสำหรับผู้ประกอบธุรกิจอาหารหรือพ่อครัวแม่ครัวคือ การดูแลความสะอาดอุปกรณ์ทำอาหารและพื้นที่ห้องครัว ป้องกันแมลงและสัตว์รบกวนเข้ามาในครัว ควรมีการแยกอาหารสดประเภทผักผลไม้สด เนื้อหมู-ไก่สด อาหารทะเล ออกจากอาหารชนิดอื่นๆ โดยเก็บในภาชนะปิดสนิท เพื่อป้องกันการสัมผัสกับอาหารที่ผ่านการปรุงสุกแล้ว รวมทั้งแยกภาชนะหรือมีดสำหรับประกอบอาหารประเภทเนื้อสดแยกต่างหากเช่นกัน สำหรับการเลือกซื้ออาหารสด ไม่ควรซื้ออาหารสดที่หมดอายุ หรือสงสัยว่าบูด เน่า เสีย เวลาประกอบอาหารควรปรุงให้สุกอย่างทั่วถึง โดยใช้ความร้อนที่อุณหภูมิมากกว่า 70 องศาเซลเซียส และไม่ควรปล่อยให้อาหารที่ปรุงสุกแล้วค้างคืนไว้นานเกินไป ควรเก็บไว้ในตู้เย็น ที่สามารถป้องกันแมลงหรือสัตว์รบกวน สำหรับอาหารที่เก็บไว้ในตู้เย็น ก็ควรนำมาอุ่นให้ร้อนอีกครั้ง สำหรับประเทศไทยที่เป็นประเทศเขตร้อน อากาศที่ร้อนชื้นอบอ้าวจะทำให้อาหารเน่าเสียเร็ว อาหารปรุงสุกที่เก็บในตู้กับข้าวจึงเน่าเสียเร็วกว่าการเก็บในตู้เย็น จึงควรสังเกตกลิ่น และลักษณะอาหารทุกครั้งก่อนรับประทาน ถ้าสงสัยว่าอาหารจะเน่าเสีย ก็ควรทิ้งทันที ผักผลไม้สดต้องล้างสะอาดก่อนรับประทานทุกครั้ง อาหารพื้นเมือง หรืออาหารไทยเรา มีหลายเมนูที่มีผักสดอยู่เคียงคู่ และในปัจจุบันกระแสการรับประทานผักผลไม้สดเพื่อสุขภาพเริ่มมีมากขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งก็ควรพึงระวังเชื้ออีโคไลหรือเชื้ออื่นๆปนเปื้อนมากับดินหรือน้ำที่ใช้เพาะปลูกผักผลไม้เหล่านั้นด้วย หลักการซื้อผักผลไม้สดที่สะอาด ไม่มีคราบดิน หรือคราบเชื้อราตามซอกใบหรือก้านผัก การล้างก็ควรล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆครั้ง หรือล้างโดยเปิดน้ำก๊อกให้แรงพอประมาณ ปล่อยให้น้ำไหลผ่านผักผลไม้ นานประมาณ 2 นาที สามารถเด็ดผักคลี่เป็นใบๆ หรือลอกเปลือกชั้นนอกของผักผลไม้ออกใส่ตะแกรงโปร่ง แล้วล้างน้ำ สำหรับผักชนิดหัวผล หรือผลไม้กินทั้งเปลือก ควรล้างด้วยน้ำผสมด่างทับทิม หรือล้างด้วยน้ำเปล่าแล้วลอกเปลือกทิ้ง สำหรับกองควบคุมโรคติดต่อ และกองสุขาภิบาลอาหาร สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้แนะนำวิธีล้างผักผลไม้ เพื่อลดสารพิษและเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนมาดังนี้ 1. ล้างด้วยน้ำ 4 ลิตรผสมกับเกลือ 2 ช้อนโต๊ะ 2. ล้างด้วยน้ำ 4 ลิตรผสมกับน้ำส้มสายชูครึ่งถ้วย 3. ล้างด้วยน้ำ 4 ลิตรผสมกับโซเดียมไบคาร์บอเนต หรือผงฟู 1 ช้อนโต๊ะ 4. ผสมน้ำ 1 แก้วกับน้ำปูนคลอรีนครึ่งช้อนชา คนให้เข้ากัน ทิ้งให้ตกตะกอน นำเฉพาะน้ำส่วนที่ใส ผสมกับน้ำสะอาด 20 ลิตร แล้วจึงนำมาล้างผักผลไม้ 5. ผสมเกล็ดด่างทับทิม 20-30 เกล็ดในน้ำ 4 ลิตร แช่ผักผลไม้ในน้ำนาน 10 นาที แล้วนำไปล้างออกด้วยน้ำสะอาด ทั้งนี้ แนะนำให้เลือกวิธีล้างเพื่อกำจัดสารฆ่าแมลง ข้อ 1, 2 หรือ 3 ก็ได้ 1 ข้อ และวิธีล้างเพื่อฆ่าเชื้อโรค ข้อ 4 หรือ 5 อีก 1 ข้อ แม้ว่าเขตระบาดของเชื้ออีโคไลสายพันธุ์อีเห็ก ชนิดผลิตสารพิษชิก้าจะอยู่ห่างไกลจากประเทศไทยเรา แต่ก็ยังไม่มีอะไรรับประกันว่า ประเทศไทยจะปลอดภัยจากการระบาดของโรคติดเชื้อในอนาคต และควรระลึกไว้ว่า ยังมีแบคทีเรียและไวรัสอีกหลายชนิดที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสียรุนแรง การป้องกันและการรักษาสุขอนามัยตนเอง จึงเป็นวิธีการเบื้องต้นในการดูแลสุขภาพให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง. [งานประชาสัมพันธ์กองกลาง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่:http://www.prcmu.cmu.ac.th/scoop_detail.php?sco_sub_id=235]